โปรแกรมและระบบบริหารงานโรงแรม มีอะไรบ้าง ?

ทราบกันหรือไม่ว่าระบบสารสนเทศ / ระบบคอมพิวเตอร์พื้นฐาน หรือ โปรแกรมที่ใช้ในโรงแรมมีอะไรบ้าง ?
ธุรกิจโรงแรมอยู่ในกลุ่มอุตสาหกรรมอาชีพธุรกิจด้านการบริการ (Hospitality Industry) ซึ่งผมเองคุ้นชื่อแค่ Hospital แฮ่ๆ
กลับมาตอบคำถามด้านบน ติ๊กต๊อก ๆ ตั้งแต่ก่อนยุค Thailand 4.0 คงมีการประยุกต์ใช้ระบบสารสนเทศในโรงแรมเป็นหลักอยู่แล้ว
โดยสามารถแบ่งเป็นด้านหลัก ๆ ได้ 3 ด้าน ดังนี้

  1. ด้านการบริหาร (Management) ใช้เทคโนโลยีสารสนเทศในการจัดการงานเพื่อใช้ในการวางแผน ควบคุม ปรับปรุง และพัฒนากิจการโรงแรม
  2. ด้านการตลาด (Marketing) ใช้เทคโนโลยีสารสนเทศในการทำการตลาด ประชาสัมพันธ์โรงแรมหรือโปรโมชั่นที่จัดตามฤดูกาลต่าง ๆ เป็นต้น
  3. ด้านการบริการ (Service) ใช้เทคโนโลยีสารสนเทศในงานด้านการบริการอำนวยความสะดวกแก่ลูกค้า เช่น การจองห้องพัก ห้องประชุมทางไกลผ่านอินเตอร์เนต เป็นต้น

ห้องพักส่วนตัวสิบดาว

(ระบบคอมพิวเตอร์ อาจจะเรียกว่า โปรแกรมโรงแรม / ระบบบริหารงานโรงแรม หรือ ระบบจัดการโรงแรม ก็แล้วแต่สถานที่ ความคุ้นชินของพนักงาน แต่แก่นความหมายก็เหมือนกัน เพียงแต่ระบบคอมพิวเตอร์จะครอบคลุมกว่า เพราะรวมเอาทั้งส่วนฮาร์ดแวร์/ซอฟแวร์ และ เครือข่าย เข้ามารวมให้ใช้งานได้)

หากมองในมุมด้านการบริการลูกค้า ซึ่งมีการแบ่งเป็น 2 ส่วน คือ ส่วนหน้าบ้าน และ ส่วนหลังบ้าน จะแบ่งระบบคอมพิวเตอร์ในโรงแรมได้ดังนี้

1. ระบบสำหรับงานบริการส่วนหน้า

1.1 ระบบบริการส่วนหน้า (Front Office System)

มีชื่อย่ออีกชื่อที่เรียกกัน คือ PMS (Property Management System หรืออาจใช้ Primary Management System)
PMS เป็นระบบพื้นฐานและเป็นระบบหลักสำหรับบริหารจัดการโรงแรม หัวใจของระบบนี้คือการบริหารจัดการห้องพักเป็นสำคัญ โดยมีหน้าที่หลักๆ ประมาณนี้ (บางซอฟแวร์อาจมีไม่ครบ หรือบางหน้าที่อยู่ในซอฟแวร์ส่วนอื่น)

  1. รองรับการจองห้องพักล่วงหน้า
  2. รองรับ Check in – Check Out ของลูกค้า
  3. รองรับการจองห้องพัก ผ่านทางเว็บไซต์
  4. ควบคุมราคาและจำนวนการขายผ่านระบบออนไลน์
  5. รองรับลูกค้าทั้งเป็นบุคคลและเป็นกลุ่มทัวร์
  6. รองรับค่าใช้จ่าย สอดคล้องกับระบบบัญชี
  7. รองรับการทำงานด้านแคชเชียร์
  8. รองรับการทำงานที่เชื่อมต่อกับแผนกอื่นๆ เช่น ร้านอาหาร, มินิบาร์
  9. รองรับการตรวจสอบ/การ Audit ข้อมูล ให้เป็นมาตรฐานสากลทั่วไป

ข้อมูลส่วนใหญ่ที่มีอยู่ใน PMS จะเป็นข้อมูลรายวันที่ได้มาจาก Front Office ที่เป็นผู้สร้างและป้อนข้อมูลเกี่ยวกับการปฏิบัติงานและบริหารเกี่ยวกับการจอง การลงทะเบียนผู้เข้าพัก ข้อมูลผู้เข้าพัก สถานะห้องพัก ค่าใช้จ่ายของแขกที่เข้าพัก เป็นต้น

แผนกงานต้อนรับส่วนหน้าในโรงแรม (Front Office) คือ ? / มีหน้าที่อะไรบ้าง ? / มีตำแหน่งอะไรบ้าง ?
<<คำถามพวกนี้ไว้ค่อยสรุป แล้วทำลิงค์เป็นอีกบทความไว้น้าา>>

1.2 ระบบบริหารจัดการร้านอาหาร (Restaurant Point Of Sales)

เป็นซอฟต์แวร์ที่ช่วยจัดการห้องอาหารเป็นหลัก เช่น การจัดการโต๊ะ โพสเมนูสั่งอาหาร ออกรายการครัวหรือบาร์ เช็คบิล เป็นต้น มีการทำเทคโนโลยีเกี่ยวกับทัชสกรีน คีออส มาร่วมด้วยในการทำงาน  เป็นอีกหนึ่งระบบที่มักควบคู่กับระบบบริการส่วนหน้า เพราะทั้งสองระบบจะต้องเชื่อมต่อถึงกันได้ โดยเฉพาะสามารถตรวจสอบได้ว่า ลูกค้าที่มาทานอาหารนั้น เป็นแขกที่มาพักจริงหรือไม่ ? (โดยปกติลูกค้าที่มาพักโรงแรม มักจะไม่ชำระเงินทันทีหลังรับประทานอาหาร แต่จะชำระตอนแจ้งออก หรือ check-out ทีเดียวเลย)

บางโรงแรมนำไปประยุกต์ใช้กับงานส่วนอื่น ๆ เช่น ห้อง Spa, Health Club , ร้าน Gift Shop โดยเพียงแค่เปลี่ยนรายการ item สินค้าที่ขายเอง

1.3 ระบบบริหารจัดการแผนกขาย (Sales & Catering)

ระบบสารสนเทศงานขาย เป็นระบบงานที่ช่วยอำนวยความสะดวกแก่ผู้ใช้งานเกี่ยวกับรายการธุรกรรมงานขาย อันได้แก่การบันทึก และจัดเก็บข้อมูลคำสั่งซื้อของลูกค้า และส่งต่อไปเพื่อนำไปจัดทำเป็นใบส่งสินค้า ใบกำกับภาษี ใบแจ้งหนี้ รวมทั้งช่วยในการจัดเก็บข้อมูลการรับคืนสินค้าด้วย ประมาณนี้
โรงแรมส่วนใหญ่ ถ้าใช้ Opera PMS (ในส่วนของ Front Office) ก็มักจะใช้สำหรับโปรแกรมในการขายเป็น Opera S&C เพื่อความสะดวกในการเชื่อมต่อข้อมูลของทั้งสองระบบนั้นเอง ปัจจุบันอยู่ภายใต้บริษัท Oracle ที่ Acquire บริษัท MICROS Systems เมื่อ 8 Sep 2014

 

2. ระบบบริการส่วนหลัง

2.1 ระบบบริหารบัญชี (Accountant System)

การทำบัญชีเพื่อการจัดการ มีวัตถุประสงค์เพื่อให้ได้งบการเงินที่ถูกต้องและรวดเร็วเพื่อมาใช้ในการพัฒนาธุรกิจและวางแผนภาษีโดยบริษัทส่วนใหญ่ มักแบ่งงานบัญชีออกเป็นประเภทต่างๆ ดังนี้

1.1 IC ( Inter-Company) มีหน้าที่บันทึกรายได้-ค่าใช้จ่าย / เคลียร์บัญชีระหว่างลูกค้าบริษัทภายในเครือฯ ที่มีบัญชีระหว่างกัน
1.2 AR  (Account Receivable) มีหน้าที่บันทึกบัญชีลูกหนี้ จัดทำบิลขาย / เรียกเก็บเงิน / เคลียร์บัญชีลูกค้า ฯลฯ
1.3 AP  (Account Payable) มีหน้าที่บันทึกบัญชีด้านเจ้าหนี้ / การตั้งหนี้ (เจ้าหนี้) / ตรวจสอบขาจ่าย
1.4 GL  (General Ledger)   มีหน้าที่ทำบัญชีทั่วไป (ที่นอกเหนือจากงาน AP/AR/IC) และงานคำนวณภาษี ส่งกรมสรรพากร  (สรุปและนำส่งภาษีทุกประเภท) จัดทำงบการเงินต่างๆ  ดูแลบัญชีในภาพรวม  เป็นต้น

หมายเหตุ อาจมีแบ่งประเภทบัญชี ซอยเพิ่มเติม ได้ดังนี้
* Cashier มีหน้าที่จ่ายเงิน / บันทึกขาจ่าย
* Payroll  มีหน้าที่บันทึกบัญชีเกี่ยวกับพนักงาน

ระบบบัญชีในโรงแรม อาจมีชื่อภาษาอังกฤษอื่น ๆ ได้แก่ Financial Management System (FMS) หรือ Back Office Manage System (BOS) มีหน้าที่ช่วยสนับสนุนการคิดคำนวณทางด้านบัญชีแยกประเภทต่างๆ ภายในโรงแรม โดยเฉพาะอย่างยิ่งการใช้งานในด้านบริหารรายได้ค่าห้องพักและบริการอื่นๆ ตลอดจนการบริหารทรัพย์สินต่างๆของโรงแรมที่ใช้ในการคิดคำนวณทางด้านบัญชีต่างๆ อาทิ สินค้าคงคลัง(Inventory) สินทรัพย์(Assets) เป็นต้น ระบบนี้อาจทำงานได้ทั้งแบบอิสระหรือเชื่อมกับระบบส่วนหน้า PMS เพื่อจัดการบัญชีค่าใช้จ่ายของแขกได้ด้วย

2.2 ระบบบริหารงานบุคคล (Human Resource Management)

HRM เป็นระบบซอฟต์แวร์ช่วยงานด้านการบริหารทรัพยากรมนุษย์ภายในโรงแรมให้มีประสิทธิภาพ เช่น งานทะเบียนประวัติพนักงาน (Personnel) การจ่ายเงินเดือน (Payroll) การควบคุมเวลาเข้าออกงาน (Time Attendance) เป็นต้น

 

3. ระบบเสริมอื่น ๆ (Additional Hotel System)

ส่วนใหญ่เป็นระบบที่ช่วยงานด้านการตลาดและการขายส่วนใหญ่ โดยขอลิสต์รายชื่อหลัก ๆ ดังนี้

3.1 ระบบบริหารความสัมพันธ์ลูกค้า (Customer Relationship Management)

CRM มุ่งเน้นในด้านการรักษาลูกค้าและช่วยให้ลูกค้ามีประสบการณ์การเข้าพักจากโรงแรมที่ดีขึ้น อาจมีเชื่อมโยงกับข้อมูลระบบ PMS หลักของโรงแรม / หรือระบบบริหารจัดการรายชื่อผู้ติดต่อในระบบอื่น ๆ ที่ใช้งานอยู่ก็ได้


การจัดจำหน่ายห้องพักของโรงแรมให้มีประสิทธิภาพเป็นสิ่งสำคัญและการดำเนินการในธุรกิจโรงแรมปัจจุบันนั้นต้องมีความรวดเร็ว สะดวกสบายแก่ลูกค้าในการค้นหาและจับจองห้องพัก ดังนั้นการเพิ่มช่องทางการจัดจำหน่ายห้องพักในหลายๆช่องทาง เป็นกุญเเจสำคัญในความสำเร็จของธุรกิจโรงเเรม โดยจำเป็นต้องมีทั้งช่องทางออนไลน์ (Online)และช่องทางธรรมดาแบบเดิม ออฟไลน์ (Offline) การกำหนดกลยุทธ์และบริหารห้องพักที่ว่างให้เหมาะสมและพอดีในแต่ละช่องทาง จะช่วยให้มั่นใจได้ว่าโรงแรมจะสามารถที่จะเพิ่มรายได้ / เพิ่มการรับรู้ของลูกค้า และเพิ่มกำไรในบรรทัดสุดท้ายต่อไป

เรามาดูช่องทางการจำหน่ายห้องพักของโรงแรม ณ. ปัจจุบันมีอะไรบ้าง ? ทั้งแบบออฟไลน์ (หัวข้อ 3.2) และ แบบออนไลน์ …

3.2 ระบบจองกลางของโรงแรม (Central Reservation Systems)

ระบบจัดการการจองกลางของโรงแรม คือ ระบบที่แผนกสำรองห้องพักใช้ในการจัดการการจองห้องพักจากทุกช่องทางไม่ว่าจะออฟไลน์หรือออนไลน์ ซึ่งระบบจะนำข้อมูลห้องทั้งหมดมารวมเอาไว้ในที่เดียวเพื่อให้จัดการง่ายและให้จัดการข้อมูลทันสมัยอยู่เสมอ ขั้นตอนการทำงานของระบบจอง มีดังนี้

  1. ตรวจสอบความสามารถในการให้บริการ (Check Availability)
  2. เลือกประเภทของผลิตภัณฑ์/บริการและราคา (Product/Service and Rate)
  3. ดำเนินการจอง (Booking)
  4. ยืนยันข้อมูล (Confirmation)

สำหรับช่องทางจำหน่ายห้องพักที่มักใช้ระบบจองกลางของโรงแรม ส่วนใหญ่จะเน้นการขายผ่านช่องทางออฟไลน์ต่างๆ เป็นหลัก มีดังนี้

  1. จองผ่านแผนกจองของโรงแรม ผ่านการออกบูทท่องเที่ยว ซึ่งเป็นการติดต่อกับ จนท. โรงแรมโดยตรง ไม่ต้องผ่านนายหน้า
  2. ระบบโทรศัพท์ (Call Center) ถือว่าเป็นการจองห้องพักโรงแรมตรงชนิดหนึ่งที่ไม่ผ่านคนกลางในการขาย
  3. เอเจนท์ท่องเที่ยว (Travel Agents) คือ ผู้ที่นำห้องพักของโรงแรมไปขายต่ออีกทีซึ่งอาจขายได้หลายรูปแบบทั้งขายตรงหรือขายพ่วงกับทัวร์ก็เป็นได้

3.3 ระบบการจัดจำหน่ายห้องพักผ่านช่องทางออนไลน์ (Online Distribution System)

3.3.1 ระบบจำหน่ายแบบเบ็ดเสร็จทั่วโลก (Global Distribution System)

ระบบ GDS นี้เดิมทีพัฒนาขึ้นมาเพื่อเป็นช่องทางในการจัดจำหน่ายตั๋วเครื่องบินของสายการบินพาณิชย์ทั่วโลก แล้วต่อมามีการพัฒนาระบบมารองรับการจองห้องพักโรงแรม ตลอดจนสินค้าและบริการด้านท่องเที่ยวอื่นๆ สำหรับ Travel Agent ด้วย

การใช้ช่องทาง GDS ในการจัดจำหน่ายห้องพักโรงแรมนั้น โรงแรมต้องติดต่อกับผู้ให้บริการช่องทาง ที่จะเป็นคนกลางในการจัดสร้างฐานข้อมูลและรายละเอียดของโรงแรมในระบบ รวมถึงจัดเตรียมการกำหนดราคาห้องและการสำรองห้องพักให้กับกลุ่มผู้ร่วมงานที่มีสายการบินทั่วโลกโรงแรมและการเดินทางอื่น ๆ แล้วทำการเชื่อมต่อข้อมูลไปสู่ผู้ให้บริการระบบจัดจำหน่ายที่ให้บริการกับ Travel Agents ต่างๆ เพื่อทำการจัดจำหน่ายให้กับลูกค้าต่อไป รายชื่อผู้ให้บริการ GDS ได้แก่ Galileo, Amadeus, Sabre, Worldspan เป็นต้น

3.3.2 ระบบจำหน่ายผ่านอินเตอร์เนต (Internet Distribution System)

การจัดจำหน่ายห้องพักผ่านทาง IDS นั้น มีลักษณะการจัดจำหน่ายใกล้เคียงกับการจัดจำหน่ายผ่านทางระบบ GDS แต่มีความแตกต่างกันตรงที่

  • ไม่ต้องใช้งานผ่านเครื่อง Terminal ของผู้ให้บริการระบบ
  • รองรับการจัดจำหน่ายทั้งแบบ B2B และ B2C
  • นำเสนอการขายห้องพักโรงแรมนั้นโรงแรมเดียว ไม่มีการเปรียบเทียบข้อมูลต่าง ๆ (ขนาดโรงแรม/ดาว/ของอำนวยความสะดวก/ราคา) จากหลายๆ โรงแรมเหมือน OTAs
  • การทำธุรกรรม (Transaction) ในการชื้อขายต่างๆ เป็นการทำตรงกับทางโรงแรม ไม่ได้ทำผ่านผู้ให้บริการ หรือ Travel Agents แต่อย่างใด ทางโรงแรมสามารถบริหารจัดการระบบได้คล่องตัว
  • ตัวอย่างรายชื่อผู้ให้บริการ IDS
    • priceline.com
    • orbitz.com
    • conferencehotel.com
    • easyres.com
    • hoteltravel.com

3.3.3 ระบบบริหารจัดการห้องพักและจัดสรรจำนวนห้องพักที่จะเปิดขาย (Channel Manager)

ระบบบริหารจัดการห้องพักและจัดสรรจำนวนห้องพักที่จะเปิดขายในแต่ละช่องทางการขาย ระบบนี้ได้รับความนิยมมากขึ้นเพราะการเติบโตของตลาด OTA (Online Travel Agent) นั่นเอง ยิ่งโรงแรมมีความต้องการขายห้องพักผ่าน OTA หลายราย ระบบ Channel Manager ก็จะมีประโยชน์ในการช่วยจัดสรรเรื่องจำนวนห้องที่จะขายและราคาที่จะขายในแต่ละช่องทาง ช่วยประหยัดเวลา ไม่ต้องเข้าไปทำทีละราย ซึ่งจะใช้เวลามากๆในการทำงานในแต่ละวัน

หลักการทำงานของ Channel Manager คือการรวมจำนวนห้องพักทั้งหมดไว้ เรียกว่า Room Inventory และระบบจะทำการเชื่อมต่อกับช่องทางการขายที่โรงแรมได้สร้างไว้กับ OTAs ต่างๆ รวมไปถึงเว็บไซต์ของโรงแรม (Hotel Website+Internet Booking Engine) เอง

ก่อนที่จะทำการเชื่อมโยงได้ เราก็ต้องตรวจสอบก่อนว่า S/W Channel Manager ที่เราต้องการใช้นั้นมี feature อะไรบ้าง / สามารถเชื่อมต่อ OTA อะไรบ้าง / มีข้อจำกัดหรือไม่ อย่างไร / คิดค่าบริการอย่างไร (เหมาจ่ายรายเดือน / คิดเป็น % ยอดจองห้องพัก)

Channel Manager ควรรองรับการทำงาน

  1. กำหนดจำนวนห้องพักที่ต้องการขายในแต่ละช่องทางการขาย
  2. กำหนดราคาขายห้องพักแต่ละประเภทในแต่ละช่องทางการขาย
  3. กำหนดการปิด/เปิดการขายเฉพาะวัน หรือเฉพาะช่วงเวลาตามเทศกาล
  4. กำหนดเงื่อนไขการเข้าพัก การห้ามเข้าพัก (Close to Arrival) ณ วันใดวันหนึ่ง หรือช่วงเวลาใดเวลาหนึ่ง หรือการห้ามเช็คเอ้าท์ (Close to Departure) ณ วันใดวันหนึ่ง หรือช่วงเวลาใดเวลาหนึ่ง
  5. ติดตามผลการจองห้องพักในแต่ละช่องทางการขาย เพื่อนำมาปรับปรุงเรื่องการบริหารจัดการจำนวนห้องพัก (Room inventory) และเรื่องราคาขาย (Selling rate) ไปจนถึงการเล่นราคา (Dynamic Rate) เพื่อให้มีการเคลื่อนไหวของราคาที่เหมาะสมกับอัตราการเข้าพักในแต่ละช่วงเวลา
  6. มีรายงานสรุปยอดการจำหน่าย

รายชื่อ S/W Channel Manager อันไหนดี ได้รับความนิยมปัจจุบัน ณ. วันที่เขียนบทความนี้คือ

  1. SiteMinder ประเทศออสเตรเลีย เปิด office ที่กทม. แล้ว
  2. The Channel Manager (Hoteliers.Guru)  ถ. พังงา จ.ภูเก็ต
  3. Ace Hotel System จ.เชียงใหม่

เอเจนท์สำหรับการจองห้องพักออนไลน์ (Online Travel Agent)

OTA เป็นเอเจนท์ออนไลน์ที่โรงแรมใช้เป็นช่องทางการขายแบบ B2C ผ่านช่องทางอินเตอร์เนต เนื่องจากยุคสมัยที่เปลี่ยนไป และวิวัฒนาการของเทคโนโลยี ช่วงวัยของกลุ่มลูกค้าปัจจุบันต่างใช้วิธีการหาห้องพัก หรือจองห้องพักทางอินเตอร์เนตกันส่วนใหญ่เกือบทั้งหมด จึงทำให้บริษัท OTA เจริญเติบโตอย่างต่อเนื่อง พบว่าบางโรงแรมสัดส่วนการเข้าพักจากลูกค้าที่จองห้องผ่าน OTA มากถึง 70% หรือโรงแรมขนาดเล็ก บางทีอาจเกิน 80% ด้วยซ้ำไป

โดยรูปแบบการทำธุรกิจของบริษัท OTA ก็จะคล้าย ๆ กับ travel agent ทั่ว ๆ ไป เพียงแต่แทนที่จะได้ราคา contract rate แล้วนำไป mark up ราคา จะกลายเป็นได้ราคาขายจากโรงแรม และเมื่อทำการขายได้ OTA จะได้ commission จากโรงแรมตามจำนวนที่ตกลงกัน ช่องทางนี้มีต้นทุนสูงสุดสำหรับโรงแรม โดยโครงสร้างค่าคอมมิชชั่นโดยปกติแล้วจะมีต้นทุนได้ถึง 10% ถึง 25%

  • โรงแรมแบรนด์ดัง มักมีข้อตกลงและโครงสร้างค่าคอมมิชชั่นกับ OTAs ต่างๆ ถูกกว่าโรงแรมทั่วไป จะมีตั้งแต่ 10 ถึง 20% ขึ้นอยู่กับแบรนด์และข้อตกลงต่างๆ
  • ส่วนโรงแรมอิสระ ไม่มีเชน อำนาจต่อรองอาจน้อยลงเพราะจำนวน volume ห้องพักมีน้อย ทำให้มีค่าใช้จ่ายค่าคอมมิชชั่นสูงขึ้นสำหรับโรงแรมอิสระมีตั้งแต่ 15% ถึง 25%

OTA Websites ตัวอย่างเว็บไซต์ OTA ได้แก่

  • Expedia.com
  • Agoda.com
  • Booking.com
  • Hotels.com
  • Expedia.co.th
  • Trivago.co.th
  • Traveloka.com
  • Kayak.com
  • Zizzee.com

3.3.4 เว็บไซต์ของโรงแรม (Hotel Official Website)

เว็บไซต์โรงแรมเป็นช่องทางการขายที่ไม่ต้องผ่านนายหน้า ซึ่งลูกค้าสามารถจองตรงบนหน้าเว็บไซต์ได้เลย แต่สิ่งที่จะทำให้ประสบการณ์ในการจองของลูกค้าง่ายขึ้น คือ การที่โรงแรมติดตั้งปุ่มจองห้องพักแล้วให้ลูกค้าจองโดยการกรอกข้อมูลลงไปที่หน้าเว็บได้เลย ผ่านการทำงานของ Booking Engine ซึ่งขั้นตอนการจองห้องพักจะไม่ยุ่งยาก ไม่กี่ขั้นตอนเอง

Booking Engine คือ ระบบจัดการห้องพัก รับจองห้องพักสำหรับโรงแรมที่ต้องการให้ลูกค้าสามารถเช็คและจองห้องพักที่ว่างในวันและเวลาที่ลูกค้าต้องการแบบได้คำตอบทันที เพราะระบบจะจัดสรรจำนวน ประเภทห้องพักและราคาขายตามที่เรากำหนดในแต่ละช่วงเวลา ลูกค้าไม่ต้องรอ สามารถตัดสินใจทำรายการได้ทันที

3.3.5 Mobile App

โมบายแอพเป็นช่องทางที่ยังใหม่อยู่สำหรับโรงแรม เฉพาะโรงแรมเชนขนาดใหญ่เท่านั้นที่มีการลงทุนพัฒนาแอพพลิเคชั่นมือถือเป็นของตัวเอง โดยส่วนมากโรงแรมทั่วไป จะไปเน้นการประชาสัมพันธ์ผ่าน Social Media แทน

สำหรับการจองห้องพักผ่านโมบายแอพ ก็เป็นอีกช่องทางหนึ่งที่กำลังมาแรงเพราะสามารถตอบสนองพฤติกรรมผู้บริโภคยุคใหม่ได้ดี

3.3.6 โซเชียลมีเดีย (Social media)

เป็นที่ทราบกันดีว่าคนไทยเรานิยมเล่นโซเชียลมีเดีย ติดระบบโลกเหมือนกัน เพราะคนไทยเราเรียนรู้เร็ว หัวไว ^-^ สำหรับรายชื่อ Social Media ที่มีการใช้งานกันเยอะ หลักๆ ได้แก่ Facebook, Line และ Instagram ดังนั้น

  • Facebook Page เป็นช่องทางออนไลน์ที่โรงแรมใช้ทั้งในการขายและการตลาด โดยโซเชียลมีเดียสามารถเข้าถึงกลุ่มลูกค้าได้กว้างและยังมีต้นทุนที่ไม่สูงนัก
  • นอกจากนี้ยังสามารถใช้ Line@ ช่วยในการ broadcast message โปรโมชั่นไปยังกลุ่มลูกค้าของโรงแรมได้รวดเร็วแบบถึงตัว อีกด้วย
  • ลงรูปภาพห้องพัก/อุปกรณ์อำนวยความสะดวก/วิวยามอาทิตย์ขึ้น/ตก, งาน Festival / Event สำคัญๆ ของโรงแรมผ่าน Instagram ก็ดูเป็นเครื่องมือที่ร่วมกับ Official Website ทำให้ส่งภาพผ่านตาลูกค้ามากขึ้นได้เหมือนกันนะครับ

 

4. แหล่งข้อมูลอ้างอิง

บทความต่อไป เราจะไปดูรายชื่อซอฟต์แวร์สำหรับระบบบริหารโรงแรม ดูว่าชื่ออะไรบ้าง จะได้ลงลึกรายละเอียดถัดไป

ปล. หากข้อมูลไม่ถูกต้องในส่วนใด ต้องขออภัยไว้ด้วยนะครับ เพราะส่วนตัวทำเป็น checklist รายการไว้เจาะหาข้อมูลลงลึกต่อไป ทั้งนี้พยายามหาข้อมูลให้มากที่สุดตามที่จะพอค้นได้แล้วครับผม จากคน IT นอกโรงแรม !

Recent โปรแกรมที่ใช้ในโรงแรม มีอะไรบ้าง ? Search Terms:

  • - ระบบ ปฏิบัติการ มี อะไร บ้าง language:th (1)
โปรแกรมที่ใช้ในโรงแรม มีอะไรบ้าง ?